
ข้อมูลทั่วไปและการวินิจฉัย
ส่วนมากเกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง สาเหตุอื่นๆ ได้แก่ การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง ตับแข็งจากการดื่มสุรา ภาวะไขมันเกาะตับ
เนื่องจากอาการของโรคมะเร็งตับมักไม่เฉพาะเจาะจง และมีการดำเนินโรคที่รวดเร็ว จึงทำให้แพทย์วินิจฉัยผู้ป่วยได้เมื่อมีอาการมากแล้ว ทำให้ผลการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร จึงทำให้เป็นโรคมะเร็งที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ในประเทศไทย
การตรวจอัลตราซาวด์ สามารถดูภาวะตับแข็งและคัดกรองมะเร็งตับได้ แนะนำให้ตรวจทุก 6 เดือนในกลุ่มเสี่ยง เพื่อเฝ้าระวังการเกิดมะเร็งตับ
การวินิจฉัย โดยมากใช้การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) การตรวจด้วยเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) สารบ่งชี้มะเร็งตับ (alpha-fetoprotein) และการตัดชิ้นเนื้อตรวจทางพยาธิวิทยา
การรักษา
การรักษามะเร็งตับมีหลายวิธีโดยแพทย์จะพิจารณารักษาตามระยะของโรค ได้แก่ การผ่าตัดก้อนมะเร็งออกหรือผ่าตัดเปลี่ยนตับ, การรักษาผ่านผิวหนังด้วยคลื่นความร้อน (radiofrequency ablation or microwave ablation), การให้เคมีบำบัดเฉพาะที่ผ่านหลอดเลือดแดงเข้าสู่ตับ (TACE) หรือการรักษาด้วยยาเจาะจงเซลล์มะเร็ง (Targeted therapy)
การผ่าตัดก้อนมะเร็งออก (surgery)
เป็นวิธีการรักษาที่หวังผลให้หายขาดได้มากที่สุด แต่มีข้อจำกัดในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะตับเเข็งที่มีการทำงานของตับแย่ลงมาก หรือกรณีที่ก้อนมะเร็งขนาดใหญ่หรือมีหลายตำแหน่ง ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งตับที่มาพบแพทย์ส่วนมากอยู่ในระยะที่ไม่สามารถผ่าตัดได้หรือไม่เหมาะที่จะทำการผ่าตัด
การรักษาผ่านผิวหนังด้วยคลื่นความร้อน (radiofrequency ablation or microwave ablation)
เหมาะสำหรับผู้ป่วยมะเร็งตับที่ก้อนขนาดไม่ใหญ่มาก (เล็กกว่า 5 ซม.) และจำนวนไม่มาก (1-3 ก้อน)
เป็นวิธีรักษาที่ใช้ความร้อน (thermal ablation) ไปทำลายก้อนมะเร็งผ่านทางเข็มที่เจาะผ่านผิวหนังโดยตรง วิธีการรักษานี้มีผลข้างเคียงค่อนข้างน้อย
การให้เคมีบำบัดเฉพาะที่ผ่านหลอดเลือดแดงเข้าสู่ตับ (TACE)
เหมาะสำหรับผู้ป่วยมะเร็งตับที่ก้อนมีขนาดใหญ่หรือหลายก้อน มีเลือดออกจากก้อนมะเร็งตับ ผู้ป่วยมีความเสี่ยงในการผ่าตัดสูงหรือน่าจะเหลือพื้นที่ตับปกติน้อยเกินไปหลังจากผ่าตัด เป็นวิธีรักษาโดยการให้ยาเคมีบำบัดเฉพาะที่ผ่านทางหลอดเลือดแดงเข้าไปสู่ตับในบริเวณที่มีก้อนมะเร็งโดยตรง หลังจากนั้นจะทำการอุดหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงก้อนมะเร็งด้วยสารอุดหลอดเลือด มีผลทำให้ก้อนมะเร็งหดเล็กและฝ่อลงในที่สุด ซึ่งการรักษาวิธีนี้อาจจะต้องทำหลายครั้ง แต่ละครั้งห่างกันประมาณ 6 สัปดาห์ เพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งที่อาจหลงเหลือหรือเกิดขึ้นใหม่เนื่องจากมีหลอดเลือดจากเนื้อเยื่อปกติรอบข้างเข้ามาเลี้ยงบริเวณที่มีก้อนมะเร็งเดิมอยู่
การรักษาด้วยยาเจาะจงเซลล์มะเร็ง (Targeted therapy)
เหมาะกับผู้ป่วยที่ได้รับการประเมินว่าการทำงานของตับไม่ดีพอที่จะได้รับสารเคมีบำบัดและสารอุดหลอดเลือดของตับ ผู้ป่วยมีภาวะหลอดเลือดดำพอร์ทัลอุดตัน (main portal vein thrombosis) มีมะเร็งแพร่กระจายไปยังนอกตับ มีเนื้อมะเร็งมากกว่า 50% ของตับ ใช้รักษาควบคู่กับการให้เคมีบำบัดเฉพาะที่ผ่านหลอดเลือดแดงเข้าสู่ตับ (TACE)
ติดต่อเพื่อพูดคุยกับเราเกี่ยวกับการรักษา
หากท่านมีคำถามเพิ่มเติม หรือต้องการนัดหมายเข้ารับบริการ สามารถติดต่อเราได้ผ่านช่องทางด้านล่าง

โรงพยาบาลตั้งอยู่ที่ ถนนเทพารักษ์ ตำบลบางปลา อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ 📍Location / Map : https://goo.gl/maps/BYoLiFXbrJaiz2gH7

02 033 2900 ต่อ ศูนย์มะเร็งโรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 อินเตอร์

FanPage : fb.com/CHGCancerCenter

Line : @CHGCancerCenter Link : https://lin.ee/b0RJt7d